บิลลี่ เกรแฮม
จากพระคริสตธรรมประทีป ปีที่ 24 ฉบับที่ 109
พฤศจิกายน-ธันวาคม 1972
หากเราสังเกตดูรายชื่อของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติแล้ว จะเห็นว่าปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อันเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ต่างพยายามแสวงหาเสรีภาพให้แก่ตนเองมากชึ้นทุกขณะ เสรีภาพ หรืออิสระภาพ หรือเอกราช จึงมีความหมายต่อสังคมมนุษย์เป็นอันมาก เพราะคุณค่าของความเป็นคน อยู่ที่ความมีเสรีภาพ หรืออิสรภาพนี่เอง ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต่างเรียกร้องเสรีภาพให้แก่ตนเองอย่างกว้างขวาง สภาพเช่นนี้อาจจะเห็นได้ชัดแจ้งในกรณีที่ประเทศซึ่งเคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น พยายามเรียกร้องอำนาจอธิปไตยและปลดปล่อยตนเองให้หลุดพ้นจากอิทธิพลของประเทศที่ครอบงำตน ไม่เพียงแต่ความดิ้นรนระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น แม้ประชากรในแต่ละรัฐต่างก็เรียกร้องเสรีภาพให้แก่ตนเองมากยิ่งขึ้น เช่น การเรียกร้องสิทธิของสตรี การเรียกร้องสิทธิในการปกครองประเทศ การเรียกร้องสิทธิของกรรมกร ฯลฯ
จากการที่มนุษย์แสวงหาเสรีภาพให้กับตนเองอย่างกว้างขวางนี้เอง จึงก่อให้เกิดปัญหาว่า เสรีภาพที่ต่างคนต่างเรียกร้องนี้มีขอบเขตเพียงใด? และควรใช้เสรีภาพที่ตนมีอยู่นั้นในทางใด จึงจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และส่วนรวม? บางคนถึงขนาดกว้างไปพิจารณาปัญหาที่ว่า การที่พระเจ้าเปิดโอกาสให้แก่มนุษย์สามารถตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ ได้โดยเสรี แต่ขณะเดียวกันก็วางบทกำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติของพระองค์หรือกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อพระประสงค์ของพระเจ้าจะต้องได้รับโทษนั้น เป็นการพระราชทานสิทธิเสรีภาพที่แท้จริงให้แก่มนุษย์หรือไม่?
ปัญหาประการหลังนี้นับเป็นปัญหาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และได้มีความคิดเห็นแตกแยกกันหลายฝ่าย
บางคนมีความเห็นว่า คำว่า “เสรีภาพ” มีความหมายอย่างกว้างขวาง ไม่ควรมีขอบเขตจำกัด เพราะหากว่ามีขอบเขตจำกัด หรือต้องอยู่ในกรอบอีกอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะเรียกได้อย่างไรว่านั่นคือ เสรีภาพ บุคคลที่มีความเห็นในทัศนะนี้ มีความคิดเอนเอียงในแง่ที่ว่า “การที่พระเจ้าพระราชทานเสรีภาพให้แก่มนุษย์ในการที่จะกระทำสิ่งใดๆได้ตามอำเภอใจ แต่ขณะเดียวกันได้วางบทบัญญัติกำหนดโทษไว้ การที่กำหนดโทษไว้เช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการบังคับกันโดยปริยายนั่นเอง”
อย่างไรก็ตาม การที่จะตีความคำว่า “เสรีภาพ” “อิสรภาพ” หรือ “เอกราช” หรือถ้อยคำใด ๆ ที่มีความหมายในทำนองนี้ ควรกระทำด้วยความรอบคอบ จะตีความตามตัวอักษรอย่างเดียวอย่างเดียวนั้นหาควรไม่ เพราะสังคมมนุษย์ ย่อมเกี่ยวข้องผูกพันกัน ทั้งในด้านนิตินัยและพฤตินัย ทุกคนจำต้องจำกัดเสรีภาพของตนให้อยู่ในสภาพที่พอเหมาะพอควร จึงจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยสันติสุข เพราะหากอ้างเอาเสรีภาพอันกว้างขวาง โดยไม่คำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตลอดจนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว การใช้เสรีภาพของแต่ละคน ย่อมก้าวก่ายล่วงเกินซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคม ร้ายยิ่งกว่าการไม่มีเสรีภาพเสียด้วยซ้ำไป สิทธิและหน้าที่ที่แต่ละคนจะพึงมีนั้น จึงควรอยู่ใต้บทบัญญัติอันเดียวกัน ต้องมีการจำกัดลดส่วนลงตามความเหมาะสม
คิดๆ ดูก็น่าแปลก ที่เราดิ้นรนเพื่อสิทธิ เพื่อเสรีภาพอย่างขันแข็ง เราพากันน้อยอกน้อยใจว่า พระเจ้ามิได้ประทานเสรีภาพให้เราอย่างเต็มที่ แต่เรากลับลืมไปว่า หากพระเจ้าทรงใช้เสรีภาพของพระองค์อย่างเต็มที่ โดยขาดความอดกลั้นแล้ว เราก็ไม่น่าจะมีชีวิตเหลืออยู่จนทุกวันนี้เป็นแน่ หรืออีกนัยหนึ่งมนุษย์อาจทำลายตนเอง ด้วยเสรีภาพอันไม่จำกัดนั่นเอง
หากพิจารณากันให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือในปัจจุบันก็ตาม มนุษย์มิได้แสวงหาเสรีภาพให้แก่ตนเองอย่างแท้จริงเลย …