ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3052268221673213&id=100006701943467
(ข้อเขียนขนาดยาว)
สมาชิกส่วนใหญ่ในคริสตจักรตลอดจนหลายคนในคณะธรรมกิจ และ ผู้ปกครองคริสตจักรอีกจำนวนหนึ่งมักคิดในใจลึกๆว่า งานพันธกิจคริสตจักรเป็น “งานพันธกิจ” ที่ศิษยาภิบาลจะต้องรับผิดชอบ และถ้างานมีมากเกินไปใหญ่เกินไปศิษยาภิบาลก็ต้องสร้างทีมงานพันธกิจขึ้นมาร่วมรับผิดชอบ สมาชิกคริสตจักรจำนวนไม่มากนักที่คิดว่าสมาชิกทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบขับเคลื่อนพันธกิจร่วมกันในคริสตจักร และ เป็นการทำงานพันธกิจร่วมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
สมาชิกในคริสตจักรส่วนมากแล้วมี “ฐานเชื่อหลักคิด” ว่า ศิษยาภิบาลเป็นผู้ที่ได้เรียนในพระคริสต์ธรรม ดังนั้นจึงควรมีความรู้ ความสามารถในการ “ทำงานพันธกิจ” คริสตจักร ส่วนตนไม่ได้เรียนมาทางนี้ก็ยินดีให้การสนับสนุนตามกำลังความสามารถในสิ่งที่ตนพอจะทำได้
บ่อยครั้งที่สมาชิกคริสตจักรและธรรมกิจมักมอง “งานพันธกิจ” ในด้านเดียวคืองานพันธกิจที่เป็นชีวิตภายในชุมชนคริสตจักร ดังนั้นงานเทศนา งานสอนพระคัมภีร์ การทำศาสน-พิธี การนมัสการพระเจ้า และ การสอนรวีวารศึกษา ตลอดจนการเยี่ยมเยียนสมาชิกคริสตจักร สิ่งเหล่านี้จะต้องมีความรู้ ทักษะ และ ความสามารถ แล้วจะให้สมาชิกแต่ละคนมารับผิดชอบงานพันธกิจคริสตจักรได้อย่างไร?
ยิ่งกว่านั้น คนส่วนใหญ่ในคริสตจักร มักมองข้าม ละเลย หรือ ไม่ตระหนักรู้ถึง “งานพันธกิจ” ของคริสตจักรในชุมชนสังคมโลก ซึ่งเป็นงานพันธกิจที่พระคริสต์ส่งสมาชิกแต่ละคนเข้าไปในชีวิตประจำวันที่อยู่ในครอบครัว, ในชุมชนสังคม, และในที่ประกอบอาชีพและการงาน ซึ่งเป็นงานพันธกิจคริสตจักรที่พระคริสต์มอบหมายให้สมาชิกแต่ละคนรับผิดชอบ ที่ต้องการมากกว่า ความรู้ ทักษะ ความสามารถเท่านั้น แต่รวมไปถึงคุณภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน ตลอดจนสัมพันธภาพที่มีต่อคนรอบข้าง
พวกเราหลายคนจึงเกิดคำถามในใจว่า แล้วพระเจ้าทรงใช้คริสต์ชนคนสามัญอย่างไรในงานพันธกิจที่พระองค์ทรงมอบหมายให้คริสตจักรขับเคลื่อนและรับผิดชอบ?
จากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ได้บ่งชี้ชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งสามารถสังเคราะห์ตกผลึกเป็นภาพใหญ่ว่า พระเจ้าทรงเรียกและใช้ศิษยาภิบาล คณะธรรมกิจคริสตจักร และสมาชิกคริสตจักรมารับใช้ในงานพันธกิจที่พระองค์ทรงมอบหมาย ทั้งพันธกิจการเสริมสร้างสมาชิกในคริสตจักร และพันธกิจการส่งสมาชิกเข้าไปกระทำพันธกิจในพื้นที่ชีวิตประจำวันในครอบครัว สังคม และที่ทำงานดังนี้
ศิษยาภิบาลรับผิดชอบในการเสริมสร้างและสนับสนุนสมาชิกแต่ละคน เพื่อให้สมาชิกคริสตจักรเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนชีวิตและพันธกิจคริสตจักร งานพันธกิจคริสตจักรจึงเป็นงานชีวิตของสมาชิกทุกคนที่กระทำด้วยความรับผิดชอบ ทำร่วมกับเพื่อนสมาชิกและผู้เชื่อคนอื่นๆ และร่วมสานต่อพระราชกิจที่พระคริสต์ได้เริ่มต้นไว้ ที่สั่งให้แต่ละคนออกไปกระทำพันธกิจตามการทรงเรียกทรงเลือกของพระองค์
ในพันธสัญญาเดิม พันธกิจในพระวิหารสงวนไว้สำหรับชนชั้นปุโรหิต นอกจากนี้ ในพันธสัญญาเดิม พระวิญญาณยังทรงมอบอำนาจให้บุคคลพิเศษเช่นกษัตริย์ และ ผู้เผยพระวจนะเพื่อจัดเตรียมพวกเขาสำหรับภารกิจบางอย่างโดยเฉพาะ (อพยพ 31:3; 35:31; 1 ซามูเอล 16:13; เอเศเคียล 2:2; 3:24).
แต่บัดนี้พระวิญญาณองค์เดียวกันนี้ได้เสด็จมาเหนือประชากร (สมาชิกคริสตจักร) ของพระเจ้าในสมัยพันธสัญญาใหม่แล้ว สถิตอยู่และประทานของประทานให้ผู้เชื่อแต่ละคน เพื่อรับใช้พระกายของพระคริสต์ที่ประกอบไปด้วยหลายส่วน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นยิวหรือคนต่างชาติ จะเป็นทาสหรือไท (1 โครินธ์ 12:7, 12–13). ความจริงก็คือว่า เรา ทุกคน ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ต่างต้องทำพันธกิจที่พระองค์ได้มอบหมายแก่เรา ทั้งนี้พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ได้ยืนยันชัดเจนว่า เราเป็นใคร …ในพันธสัญญาใหม่ เราผู้เชื่อแต่ละคนต่างเป็น ปุโรหิต ต่อหน้าพระเจ้า (1 เปโตร 2:9; “..พวกท่านเป็นประชากรที่พระเจ้าได้ทรงเลือกสรร เป็นปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นพลเมืองของพระ-เจ้า. วิวรณ์ 1:6 “…ได้ทรงตั้งเราให้เป็น…ปุโรหิตเพื่อรับใช้พระเจ้า.” ความสามารถที่เราจะอภิบาลชีวิตของคนอื่นนั้นหยั่งรากบนอัตลักษณ์ของเรา และอัตลักษณ์นี้เราได้มาโดยทางพระคุณของพระองค์ที่ประทานแก่แต่ละคน (เอเฟซัส 4:7)
ใช่ ศิษยาภิบาลได้รับมอบหมายหน้าที่เฉพาะและได้รับมอบหมายให้ทำพันธกิจที่แตกต่างจากสมาชิกคริสตจักร แต่โดยรวมแล้ว พระคัมภีร์ตอนนี้ในจดหมายฝากมุ่งเน้นไปที่พันธกิจที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกคริสตจักรด้วยกัน และพันธกิจที่ทำต่อกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า
“ศิษยาภิบาลรับผิดชอบในการเสริมสร้างและสนับสนุน สมาชิกคริสตจักรให้เป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนชีวิตและพันธกิจคริสตจักร พันธกิจจึงเป็นงานชีวิตของสมาชิกทุกคน”
แม้แต่ในเอเฟซัส บทที่ 4 ก็ได้เน้นย้ำเรื่องนี้ในประเด็นที่ว่า ให้ศิษยาภิบาล “…เตรียม ประชากรของพระเจ้า (ผู้เชื่อในพระเจ้า) สำหรับงานรับใช้ เพื่อว่าพระกายของพระคริสต์จะได้รับการเสริมสร้างขึ้น” (เอเฟซัส 4:12 อมธ.) เตรียมผู้เชื่อด้วยพระวจนะของพระเจ้า และกล่าวถึงพระวจนะนี้แก่กันและกัน เป็นการสะท้อนพระวจนะดังกล่าวแก่กัน “ซึ่งเป็นการพูดความจริงด้วยความรัก เราจะเติบโตขึ้นในทุกสิ่งสู่พระองค์ผู้เป็นศีรษะคือพระคริสต์” เพื่อว่า ทุกอวัยวะจะ “ประสานและยึดเข้าด้วยกันโดยเส้นเอ็นทุกเส้นนั้นเจริญเติบโตและเสริมสร้างตัวเองขึ้นในความรัก” เพื่อที่จะเติบโตสู่พระองค์ผู้เป็นศีรษะคือพระคริสต์” (เอเฟซัส 4:15) “และเมื่อแต่ละส่วนทำงานตามหน้าที่แล้ว ก็ทำให้ร่างกายเจริญและเสริมสร้างตนเองขึ้นด้วยความรัก” (ข้อ 16) ในที่นี้เปาโลได้เน้นชัดว่า สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนจะต้องเอาใจใส่ที่จะอภิบาลซึ่งกันและกัน ดังนั้น งานอภิบาลจึงมิได้เจาะจงให้ทำโดยศิษยาภิบาลเท่านั้น แต่ศิษยาภิบาลจะต้องเตรียมธรรมิกชน หรือ สมาชิกคริสตจักรทุกคนที่จะอภิบาลคนอื่นๆในคริสตจักรด้วย
การอภิบาลกันและกัน : บริการ-รับใช้ สั่งสอน ให้การปรึกษา
คำอธิบายที่ว่ามานี้ สอดคล้องกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราพบเห็นในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ อัครสาวกไม่ได้บอกศิษยาภิบาลถึงวิธีสร้างโปรแกรมพันธกิจ หรือสอนพวกเขาถึงวิธีแก้ปัญหาแก่กลุ่มเป้าหมายที่เขาทำพันธกิจด้วย แต่อัครสาวกหนุนเสริมให้กำลังใจสมาชิกคริสตจักรให้ร่วมกันทำพันธกิจ
ตัวอย่างเช่น ให้เราพิจารณาถึงข้อความที่ว่า “กันและกัน” การบริการรับใช้ในคริสตจักรมิใช่เป็นงานของมัคนายกเท่านั้น แต่สมาชิกแต่ละคนจะต้อง “รับใช้กันและกันด้วยความรัก” (กาลาเทีย 5:13) มิใช่ศิษยาภิบาลเท่านั้นที่จะเป็นผู้สอน แต่สมาชิกจะต้อง “สามารถสั่งสอนกันและกันได้” (โรม 15:14) มิใช่นักจิตวิทยาเท่านั้นที่ให้การปรึกษาที่จะช่วยคนอื่นออกจากปัญหาในชีวิตได้เท่านั้น แต่สมาชิกแต่ละคนก็สามารถ “ให้กำลังใจกันและเสริมสร้างซึ่งกันและกัน” ได้ด้วย (1เธสะโลนิกา 5:11)
แม้แต่ในช่วงเวลาของการนมัสการพระเจ้าร่วมกัน ซึ่งเป็นเวลาที่คริสต์ชน สมาชิกคริสตจักรหลายท่านมุ่งให้ความสนใจและความสำคัญไปที่ผู้นำ แต่ผู้เขียนจดหมายฝากได้เน้นย้ำความสำคัญในการนมัสการพระเจ้าว่า สมาชิกแต่ละคนที่ร่วมอยู่ในการนมัสการพระเจ้านั้น “…จะปลุกใจซึ่งกันและกันให้มุ่งสู่ความรักและการกระทำที่ดี…ให้เราให้กำลังใจกันมากยิ่งขึ้น” (1เธสะโลนิกา 5:11)
พันธกิจ “คุณภาพชีวิตส่วนตัว” ของสมาชิกในชีวิตประจำวัน
แนวโน้มหนึ่งที่สมาชิกคริสตจักรมักมองว่างานพันธกิจเป็นเรื่องของศิษยาภิบาลเพราะเห็นว่างานการเทศนา การสอน การประกอบศาสนพิธี เป็นงานที่สำคัญมากกว่าเพราะเป็นงานที่เห็นชัดเป็นรูปธรรม แต่งานที่จะเตรียม และ เสริมสร้างธรรมิกชน หรือ สมาชิกให้เป็นคนรับใช้นั้นเป็นงานที่ไม่ชัดเจนในสายตามของสมาชิกส่วนใหญ่
อีกประการหนึ่ง งานพันธกิจในการนมัสการพระเจ้า การเทศนา การสอนพระวจนะ การให้การปรึกษา การประกอบศาสนพิธี สามารถวัดผลจากการทำพันธกิจได้ แต่งานการเตรียมและเสริมสร้างสมาชิกให้เป็นคนรับใช้นั้นต้องไปวัดที่ผลงานการทำพันธกิจของสมาชิกที่ผ่านการเตรียมและเสริมสร้างจากศิษยาภิบาล
แต่เปาโลเน้นย้ำชัดเจนว่า การสอนของศิษยาภิบาลเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญในการ “เตรียม” และ “เสริมสร้าง” ชีวิตของสมาชิกให้เป็นสาวกของพระคริสต์ และเป็นคนรับใช้พระองค์ และนี่คือ พันธกิจและชีวิตคริสตจักรตัวจริงที่จะทำให้สมาชิกแต่ละคนมุ่งสู่การทำพันธกิจที่สำคัญยิ่งในชีวิต คือการเตรียมสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนให้ทำพันธกิจตามพระมหาบัญชาในชีวิตประจำวัน
บางทีเราคิดว่าการทำพันธกิจในสังคมชุมชนเป็นสิ่งที่ดูใหญ่โต แต่การทำพันธกิจในบางด้านเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตประจำวันของแต่ละคน สิ่งที่เปาโลเรียกว่า “งานพันธกิจ” ที่สมาชิกทำนั้นดูเล็กน้อย แต่ให้เราพิจารณาสิ่งที่เปาโลเองได้กล่าวเน้นย้ำตลอดพระธรรมเอเฟซัสว่า “งานพันธกิจ” คือ สิ่งที่คริสตจักรสั่งสอน เตรียม และ เสริมสร้างสมาชิกคริสตจักรให้กระทำในชีวิตประจำวัน เปาโลกล่าวถึงสิ่งที่สอน เตรียม และเสริมสร้างชีวิตสมาชิกว่ามีอะไรบ้าง?
ดังนั้นจงละทิ้งความเท็จ “ให้พวกท่านแต่ละคนพูดความจริงกับเพื่อนบ้านของตน” เพราะเราต่างเป็นอวัยวะของกันและกัน (เอเฟซัส 4:15, 25)
แต่จงใช้มือของตนตรากตรำทำงานที่ดีดีกว่า เพื่อจะได้มีอะไรแจกจ่ายให้คนที่มีความจำเป็น (เอเฟซัส 4:28; 6:5–8);
อย่าพูดหยาบโลนลามก เฮฮาไร้สาระ หรือตลกหยาบช้า (สองง่ามสองแง่) ซึ่งไม่สมควร แต่ให้ขอบพระคุณพระเจ้าดีกว่า อย่าหลุดปากเอ่ยสิ่งที่ไม่สมควร แต่จงกล่าววาจาอันเป็นประโยชน์เพื่อเสริมสร้างผู้อื่นขึ้นตามความจำเป็นของเขา จะได้เป็นผลดีแก่ผู้ฟัง (เอเฟซัส 4:29; 5:4)
จงเมตตาและสงสาร เห็นใจกันและกัน ให้อภัยต่อกันเหมือนที่พระเจ้าทรงอภัยแก่ท่านในพระคริสต์ (เอเฟซัส 4:32)
อย่าให้ผู้ใดล่อลวงท่านด้วยวาจาไร้สาระ (เอเฟซัส 5:6)
ภรรยาจงยอมเชื่อฟังสามีของตน … สามีก็จงรักภรรยาของตน (เอเฟซัส 5:22–33)
จงอบรมเลี้ยงดูโดยการฝึกฝนและสั่งสอนตามแนวทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า (เอเฟซัส 6:4)
นายก็จงทำต่อทาสอย่างเป็นคนขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่เท่าเทียมกัน และ ด้วยความยุติธรรม (เอเฟซัส 6:9)
“งานพันธกิจ” ของเปาโลนั้นมีลักษณะเช่นไร? เป็นเหมือนแม่ยังสาวสองคนที่ละทิ้งจิตวิญญาณที่แข่งขันเอาแพ้เอาชนะกันและกันมาเป็น “แม่” ที่ช่วยและหนุนเสริมกันในการรับใช้เลี้ยงดูทารก เป็นเหมือนชายหนุ่มสองคนที่ปฏิเสธที่จะพูดหยาบโลน ตลกโปกฮา สองง่ามสองแง่ แต่เลือกที่จะพูดสิ่งที่เสริมสร้างกันและกัน คำพูดที่สร้างเสริมและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น และที่เขาทำเช่นนี้เพราะเขากระทำต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า
“พระเจ้าประทานผู้นำแก่เรา เพื่อที่จะเตรียมและเสริมสร้างสมาชิกคริสตจักร มิใช่เพื่อให้คนเหล่านี้ (สมาชิกคริสตจักรที่สร้างเสริม) ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งแทนตนเอง แต่เพราะสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนทุกคนจะต้องรับผิดชอบกระทำงานพันธกิจเหล่านี้ และพึงตระหนักชัดด้วยว่า ศิษยาภิบาลและต่อให้เอาคณะธรรมกิจมารวมด้วยก็ไม่สามารถทำแทนสมาชิกคริสตจักรทั้งหมดทุกคนได้ในเรื่องที่กล่าวมานี้”
งานพันธกิจในชีวิตชุมชนสังคม ที่สมาชิกแต่ละคนถูกส่งเข้าไปในพื้นที่ชีวิตประจำวัน
จากพันธกิจคุณภาพคุณลักษณะชีวิตของแต่ละคนที่กล่าวข้างต้น ย่อมเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ และ มุมมองคนรอบข้างของผู้คนต่อสมาชิกคริสตจักรคนๆนั้นทั้งในครอบครัว ในชุมชนสังคม และในที่ทำงาน ที่จะเป็นเหมือนขั้นบันไดที่สมาชิกคริสตจักรคนนั้นจะใช้ก้าวไปอีกก้าวไปสู่การทำพันธกิจที่พระเยซูคริสต์ได้บัญชา และ ส่งเขาเข้าไปกระทำในชุมชนสังคม
สมาชิกแต่ละคนจะต้องได้รับการสอน เสริมสร้าง และ ฝึกฝนจากศิษยาภิบาลหรือทีมงานผู้อภิบาลให้มีคุณลักษณะชีวิต ความรู้ ทักษะ ความสามารถในการสื่อสารพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จากประสบการณ์ตรงที่ตนเองได้รับและเสริมสร้าง
พันธกิจชีวิตนี้ เป็นพันธกิจที่กระทำด้วยจิตใจที่เชื่อฟังพระบัญชาของพระเยซูคริสต์ และทำจากพลังแห่งประสบการณ์ที่ตนได้รับจากพระเจ้า และการอภิบาลจากศิษยาภิบาล และ ทีมอภิบาลในคริสตจักร เพื่อนำพระกิตติคุณที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของตนนี้ เป็นพระกิตติคุณที่เข้าถึงชีวิตคนรอบข้างในชุมชนสังคมที่สมาชิกคริสตจักรคนๆนั้นใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อชีวิตของบุคคลเป้าหมายจะได้สัมผัสกับความรักเมตตาของพระเยซูคริสต์ผ่านชีวิตของสมาชิกคนนั้น และบุคคลเป้าหมายได้รับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตใหม่จากพระคริสต์
ดังนั้น พันธกิจที่พระคริสต์มอบหมายให้คริสตจักร จึงเป็นพันธกิจที่ผู้เชื่อแต่ละคนจะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต และทุ่มทั้งชีวิตที่จะเป็นชีวิตที่สำแดงให้คนรอบข้างได้เห็นและสัมผัสถึงความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์ผ่านชีวิตประจำวันของสมาชิกคริสตจักรแต่ละคน และศิษยาภิบาลคือผู้เตรียมพร้อมชีวิตสมาชิกแต่ละคนที่จะทำพันธกิจด้วยชีวิต
เอมมาอูส