ดร. วิภาดา พูลศักดิ์วรสาร
อาจารย์พิเศษ โรงเรียนคริสตศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์, Ph.D. (Curriculum and Instruction), M.Div., M.P.A., Cert. หลักสูตรผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม, ศูนย์ดูแลภาวะสองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, 2562., Cert. หลักสูตรผู้ช่วยเหลือผู้ดูแลผู้สูงอายุ รุ่นที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, มี.ค. 61.
จากพระคริสตธรรมประทีป ฉบับที่ 400 มกราคม – กุมภาพันธ์ 2022
ภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคหนึ่งที่ท้าทายการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้คนได้ในทุกวัยโดยกราฟจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ในวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้สูงอายุ 1 ใน 30 คนเป็นโรคสมองเสื่อม
สมองเสื่อม คือ ภาวะการทำงานลดลงของสมอง อาจเกิดขึ้นค่อยเป็นค่อยไปหรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดจากสภาวะถดถอยทางระบบประสาท ภาวะโรคทางกายหรือ การได้รับสารพิษต่างๆ เป็นเวลานาน และเป็นโรคที่ไม่หายขาด แบ่งเป็นชนิดที่มีสาเหตุหรือปัจจัยรกระทบต่อการทำงานของสมอง กับชนิดที่ไม่มีสาเหตุหรือเรียกว่า ความเสื่อมถอยทางระบบประสาท เช่น ฝ่อหรือเหี่ยว
อาการของภาวะสมองเสื่อม มีการถดถอยของการรู้คิด (ประกอบด้วย ความจำ ความเข้าใจภาษา กระบวนการคิด ความสามารถเชิงมิติสัมพันธ์ ความสามารถเชิงประสาทสั่งการ การแผลผลการรับรู้ประสาทสัมผัสทั้งห้า) ความผิดปกติทางพฤติกรรม (เช่นพูดน้อยลง ระแวง หลงผิด บางครั้งแสดงออกในรูปแบบของอารมณ์ เช่น ก้าวร้าว เมินเฉย กังวล กลัว) เกิดผลกระทบต่ออารมณ์ (เช่น ซึมเศร้าทางอารมณ์ ตื่นตกใจง่าย )และเกิดผลกระทบต่อสังคม
ชนิดของสมองเสื่อม แบ่งเป็น
1. ชนิดที่มีสาเหตุหรือปัจจัยกระทบต่อการทำงานของสมอง ทำให้ภาวะที่ทำให้สมองทำงานผิดพลาดไป
เกิดจากโรคทางสมองเช่น เนื้องอกในสมอง การติดเชื้อซิฟิลิส ภาวะน้ำในสมองโพรงสมองมากเกินปกติ, เกิดจากโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ การทำงานผิดปกติของของต่อมไทรอยด์ ภาวะขาดวิตามินบี 12 และกรดโฟลิค, ภาวะทางจิต เช่น ซึมเศร้า กังวล ยาต่างๆ เช่นยานอนหลับ ยากดประสาท สารเสพติดต่างๆ เช่น สุรา
2. ชนิดที่ไม่มีสาเหตุ หรือเรียกว่า ความเสื่อมถอยทางระบบประสาท มี 5 อย่าง แต่ที่รู้จักกันดีมี 3 อย่างแรก คือ โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อมส่วนหน้าและด้านข้าง FTD โรคสมองเสื่อม Lewy body
โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease — AD) อาการเด่น คือ
- ความจำระยะสั้นผิดปกติ (ไม่นับเรื่องอดีต) เช่น วางของแล้วลืม ถามคำถามซ้ำๆ ไม่สามารถบอกวันที่ได้ เป็นลักษณะ “จำไม่ได้” มากกว่า “ลืม”
- มีปัญหาเรื่องการพูดและการใช้ภาษา นึกคำนาน จะคิดคำศัพท์บางคำไม่ออก ใช้คำใกล้เคียงแทน อ่านหนังสือน้อยลง หลีกเลี่ยงการเขียนหนังสือ
- มีปัญหาเรื่องมิติสัมพันธ์ เช่น เดินห้างแล้วงง ไม่คุ้นเคยกับที่ใหม่ๆ กลับที่จอดรถไม่ถูกต้อง ไม่ออกจากบ้านไกล สูญเสียความสามารถในการรับรู้และความเข้าใจ เช่น เริ่มสับสนว่าโทรทัศน์เปิดยังไง เริ่มไม่รู้ว่ามาที่โรงพยาบาลทำไม สูญเสียการทำงานของระบบประสาทสั่งการ ทำงานซับซ้อนไม่ถูกต้อง เช่นแต่งตัว แต่งหน้า งานง่ายๆ เริ่มมีปัญหา เช่น พับผ้า ล้างจาน ใส่เสื้อผ้าเองไม่ได้
- สติปัญญาเฉลียวฉลาดลดลง ทักษะความสามารถต่างๆ จะเริ่มสูญเสียไป เช่น ตัดสินใจเองไม่ได้ คิดแก้ปัญหาไม่ได้ ทำตามคำสั่งไม่ได้
- ปัญหาทางอารมณ์ เช่น เฉยๆ ซึมเศร้า เบื่อ
- ปัญหาทางจิตเวช เช่น เห็นคนตายในอดีตมาคุยด้วย หลงผิดว่าคู่สมรสนอกใจ
- ปัญหาทางระบบประสาทอย่างอื่น เช่น มีอาการสั่นแบบโรพาร์กิสัน
- ปัญหาควบคุมการขับถ่าย
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรค กรรมพันธุ์อาจเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอัลไซเมอร์เริ่มต้นเมื่ออายุน้อยกว่า 65 ปี
(นพ.อิทธิพล ตะวันกาญจนโชติ, หลักสูตรการอบรมผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม รพ.จุฬาลงกรณ์, ก.ค. 2562)
การป้องกันการเกิดโรค
โรคประจำตัว โรคที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ความดัน หรือการส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ล้วนก่อให้เกิดความเสื่องต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม เช่น ความดันโลหิตสูงและไขมันสูง (การศึกษาในยุโรปพบว่า การลดความดันโลหิตสูงช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และลดการเกิดสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองได้ 50% หลังการรักษา 2 ปี) ภาวะอ้วน, โรคเบาหวาน, โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคซึมเศร้า ที่ไม่ได้รับการบำบัด หรืออารมณ์เศร้า อาจเป็นอาการนำเริ่มแรก ก่อนจะมีอาการสมองเสื่อมตามมา
- อุบัติเหตุที่ศรีษะ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่รุนแรงหรือเกิดซ้ำหลายครั้ง เช่น นักมวย เป็นต้น
- อาหาร รับประทานอาหารครบห้าหมู่ หลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อสมอง (เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
(คลีนิกสมองเสื่อม, รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, 2562)
ระยะของผู้ป่วยสมองเสื่อม
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
- ระยะแรก ผู้ป่วยมักจะจำเรื่องบางอย่างไม่ได้
- ระยะสอง อาการของโรคจะดำเนินต่อไปจะสูญเสียความจำใกล้ๆ มากขึ้น จำไม่ได้ว่าทานข้าวไปแล้วหรือยัง
- ระยะสาม ระยะรุนแรง ความเฉลียวฉลาดของผู้ป่วยจะลดลงมาก ความจำจะแย่ลงไป คนใช้จะจำคนใกล้ชิดไม่ได้
โดยเฉลี่ยผู้ป่วยมมักมีชีวิตได้ราว 10 ปี บางรายอาจอยู่ได้ถึง 20 ปี แต่บางรายอาการของโรคจะไปเร็วมาก อาจจะเสียชีวิตภายใน 2-3 ปี ถ้าหากพบว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อาการดำเนินโรคเกี่ยวกับทางสมองเสื่อมจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ซึ่งปัจจุบันแม้เราจะมีความรู้และความก้าวหน้าในการตรวจวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ เช่น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แต่ก็ยังไม่สามารถให้การรักษาให้หายได้ เพียงแต่ดูแลรักษาแบบประคับประคองและชะลอความเสื่อมของสมองได้เท่านั้น
(ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย, คลีนิกสมองเสื่อม รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, 2562)
การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นงานที่หนัก ผู้ดูแลต้องอาศัยความอดทนนาน และต้องมีความเข้าใจลักษณะของโรคและตัวผู้ป่วยเป็นอย่างมาก บ่อยครั้งมักพบว่าผู้ดูแลจะต้องปรับเปลี่ยน รูปแบบการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับผู้ป่วย เพราะการจะให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนชีวิตนั้นเป็นการยาก ดังนั้น ในผู้ป่วยบางรายที่มีผู้ดูแลหลักเพียงคนเดียวมักพบว่า ผู้ดูแลไม่มีเวลาส่วนตัวเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดได้ หากผู้ดูแลลองคลายความเครียดด้วยตนเองแล้ว (เช่น หยุดพัการดูแลผู้ป่วย การให้รางวัลตนเอง ซึ้อของที่ชอบ การร้องเพลง การออกกำลังกาย การพบหน้าเพื่อนฝูง เป็นต้น) แต่ยังคงมีอาการทางกายหรือทางจิตใจรบกวนอยู่ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรับรักษาที่เหมาะสม
(ชลาลัย แต้ศิลปสาธิต, พญ ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง และ นพ.ชาวิท ตันวีระชัยสกุล, การดูแลตนเองของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม. คลีนิกสมองเสื่อม, รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย)
การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมที่เป็นคริสเตียน
ในบางคริสตจักรอาจพบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คริสตจักรสามารถจัดพันธกิจให้ผู้ป่วยมารวมกลุ่มกัน ซึ่งหากเป็นระยะแรก หรือระยะที่สอง ผู้ป่วยยังสามารถจดจำเรื่องราวในอดีตได้ ควรให้ผู้ป่วยระลึกถึงความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า เช่น อ่านข้อพระคัมภีร์ที่ผู้ป่วยคุ้นเคยให้ฟัง ร้องเพลงร่วมกันในเพลงคริสเตียนที่ผู้ป่วยชื่นชอบ หรือเพลงที่ร้องบ่อยๆ ในคริสตจักร เช่น สรรเสริญพระเจ้าผู้อำนวยพร เป็นต้น
สิ่งที่ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม
สำหรับการเตรียมตัวของคริสเตียนเพื่อการชะลอการเกิดสมองเสื่อมนั้น ให้ฝึกความจำ การอ่านพระคัมภีร์ หมั่นอธิษฐาน ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า และบอกเล่าเรื่องราวความรักของพระเจ้าให้กับผู้อื่น ให้คริสเตียนมีการทำกิจกรรมรวมกลุ่มกันอย่างสม่ำเสมอ มาคริสตจักรนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ การสามัคคีธรรมร่วมกัน เช่น การประชุมอธิษฐาน การศึกษาพระคัมภีร์ในกลุ่มเซล การเรียนรวีวารศึกษา การออกกำลังกายร่วมกัน การหนุนใจกัน และหลีกเลี่ยงการอยู่โดดเดียวคนเดียวอันนำไปสู่อารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นอาการนำเริ่มแรก ก่อนจะมีอาการสมองเสื่อมอื่นๆ ตามมา
(Tony Reinke, Alzheimer’s, the Brain, and the Soul, Desiring God, December 12, 2014.)
อ้างอิง
- นพ.อิทธิพล ตะวันกาญจนโชติ, หลักสูตรการอบรมผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม, รพ.จุฬาลงกรณ์, ก.ค. 2562.
- ชลาลัย แต้ศิลปสาธิต, พญ ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง และ นพ.ชาวิท ตันวีระชัยสกุล, การดูแลตนเองของผู้ดูแลผู้ป่วย
- โรคสมองเสื่อม. คลีนิกสมองเสื่อม, รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.
- ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย, คลีนิกสมองเสื่อม รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย.
- Tony Reinke, Alzheimer’s, the Brain, and the Soul, Desiring God, December 12, 2014)