ศจ. ดร. สมใจ รักษาศรี
ศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งความเชื่อแบ๊บติสต์
จาก เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/profile.php?id=100036970351773
มีคนเคยพูดไว้ว่า “เมื่อสมาชิกคริสตจักรย้ายออกไปจากโบสถ์ ความเจ็บปวดไม่มากก็น้อยย่อมเกิดขึ้นกับศิษยาภิบาล โดยเฉพาะถ้าเป็นศิษยาภิบาลในคริสตจักรขนาดเล็ก เพราะนั่นไม่ใช่แค่การย้ายออกของสมาชิกคนหนึ่งหรือครอบครัวหนึ่ง แต่มันคือการสูญเสีย”
ตลอด 30 ปีกว่าปีของการทำหน้าที่ศิษยาภิบาล ผมเองก็มีประสบการณ์กับการย้ายออกของสมาชิกอยู่หลายครั้งหลายคราว ทั้งแบบเป็นความจำเป็นที่จะต้องย้ายและได้มาปรึกษาพูดคุยกับศิษยาภิบาลถึงการย้าย
แต่…นอกจากการย้ายออกไปเพราะความจำเป็นแล้ว ยังมีการย้ายออกไปด้วยเหตุผลอื่น ๆ เช่น 1) ออกไปเพราะน้อยใจพระเจ้าหรือสะดุดคนในโบสถ์ หรือแม้กระทั่งไม่ชอบหรือไม่พอใจศิษยาภิบาล 2) ออกไปเพราะต้องการอิสระ ไม่อยากตอบคำถามว่าทำไมไม่มาโบสถ์หากอาทิตย์ไหนขาดโบสถ์ ไม่อยากรู้สึกผิดเพราะไม่สามารถตอบสนองเรื่องฝ่ายวิญญาณที่คริสตจักรกำลังรณรงค์ เช่น การอ่านพระคัมภีร์ การเข้าชั้นเรียนพระคัมภีร์ การพัฒนาชีวิตฝ่ายวิญญาณ 3) ย้ายไปคริสตจักรที่ใหญ่กว่า มีสมาชิกมากกว่า การเดินทางสะดวกกว่า 4) ถูกพวกสอนเทียมเท็จชักจูงและหว่านล้อมด้วยเหตุผลจอมปลอม จึงหลงเชื่อและย้ายออกไป เป็นต้น และ 5) เลิกเชื่อ
ส่วนตัวเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าทุกครั้งที่มีคนหนึ่งคนใดออกไปจากโบสถ์ย่อมทิ้ง “บาดแผลไว้ในใจและในความรู้สึก” ของศิษยาภิบาลไม่มากก็น้อย แต่ความรู้สึกเจ็บปวดใจจะยิ่งรุนแรงหากสมาชิกที่ออกไปจากคริสตจักร…
• เป็นคนที่ศิษยาภิบาลมีความสนิทสนมคุ้นเคย
• เป็นคนที่ศิษยาภิบาลได้ทุ่มเทชีวิตให้กับเขาเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาชีวิตฝ่ายวิญญาณขึ้นมา
• เป็นเพื่อนและเป็นคนที่ร่วมหัวจมท้ายกันมากับศิษยาภิบาล
• เป็นสมาชิกเก่าแก่หรือเป็นผู้นำของคริสตจักร
• เป็นคนที่ศิษยาภิบาลและคริสตจักรมีความคาดหวัง
• เป็นคนที่ศิษยาภิบาลเชื่อใจและไว้วางใจ
ศิษยาภิบาลบางคนอาจมีความรู้สึกเหมือนถูก “ทรยศ” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รู้สึกแบบนั้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าพระเยซู พระอาจารย์ของเรา ก็ทรงมีประสบการณ์ถูกทรยศเช่นกัน เมื่อยูดาสทรยศพระองค์ การยกพระธรรมสดุดี 41:9 มาอ้างอิงว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเพื่อสำเร็จตามคำพยากรณ์ ได้สะท้อนถึงความรู้สึกของพระองค์ได้เป็นอย่างดี “แม้ว่าเพื่อนในอกของข้าพระองค์ ผู้ซึ่งข้าพระองค์ไว้วางใจ ผู้รับประทานอาหารของข้าพระองค์ก็ยกส้นเท้าใส่ข้าพระองค์” ไม่เพียงเท่านั้นสาวกที่เหลือก็พากันละทิ้งพระองค์ ไม่มีใครสักคนหนึ่งที่อยู่กับพระองค์ในเวลาที่พระองค์ถูกจับ ยิ่งกว่านั้น เปโตรซึ่งเป็นสาวกที่ประกาศว่าจะไม่มีวันทิ้งพระองค์กลับยืนยันซ้ำ ๆ กันถึงสามครั้งว่า “ข้าไม่รู้จักคนนั้น” (มธ. 25:12; 26:72)
ศิษยาภิบาลหลายคนถามผมว่าแล้วจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ผมยอมรับว่าเป็นคำถามที่ตอบไม่ง่าย อีกทั้งไม่มีข้อบังคับในเรื่องการห้ามย้ายโบสถ์เลย แต่ก็พอจะมีคำแนะนำบางอย่างสำหรับศิษยาภิบาลทั้งหลาย (รวมทั้งตัวเองด้วย) ดังนี้
ประการแรก เราต้องยอมรับความจริงว่า 1) จะมีสมาชิกบางคนย้ายออกจากคริสตจักร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม และ 2) การที่สมาชิกย้ายออกจากคริสตจักรย่อมทำให้ศิษยาภิบาลรู้สึกเจ็บปวดไม่มากก็น้อย ดูเหมือนทางเลือกจะมีแค่ “ยอมรับ” หรือ “ไม่ยอมรับ” เท่านั้น แน่นอนที่การไม่ยอมรับจะทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดใจ แต่การยอมรับว่าไม่ช้าก็เร็วอาจจะใครบางคนย้ายออกไปจากคริสตจักร จะช่วยให้เราไม่ต้องเจ็บปวดใจมากนักเมื่อมันเกิดขึ้น เพราะได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้าระดับหนึ่งแล้ว
ประการที่สองสอง เราต้องยอมรับเหตุผลของการย้ายโบสถ์ของสมาชิกที่ย้ายออกไป แม้เราจะรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย แต่เราต้องรับมือกับเรื่องนี้ด้วยการ “ยอมรับ ด้เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจ” คนที่ย้ายออกจากคริสตจักร เพราะบางทีในสายตาของเราเหตุผลของการย้ายอาจจะไม่สมเหตุสมผล แต่คนที่ย้ายออกไปอาจจะคิดว่าสมเหตุสมผลก็ได้ ทางเดียวที่จะลดความเจ็บปวดใจของศิษยาภิบาลคือ พยายามยอมรับเหตุผลของเขา เหมือนที่พระเยซูทรงยอมรับเหตุผลของโธมัสที่พูดว่า “ถ้าข้าไม่เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ของพระองค์ และไม่ได้เอานิ้วของข้าแยงเข้าไปที่รอยตะปูนั้น และไม่ได้เอามือของข้าแยงเข้าไปที่สีข้างของพระองค์แล้ว ข้าจะไม่เชื่อเลย” (ยน. 20:25) เมื่อพระเยซูทรงปรากฏแก่สาวกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้โธมัสอยู่ด้วย พระองค์ตรัสกับโธมัสว่า “จงยื่นนิ้วมาที่นี่และดูมือของเรา จงยื่นมือออกคลำที่สีข้างของเรา อย่าขาดความเชื่อเลย จงเชื่อเถิด” (ยน. 20:27)
ประการที่สาม รับเอาเหตุผลของการย้ายออกมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงแก้ไข เช่น ถ้าการย้ายออกเกิดจากปัญหาบางอย่างในคริสตจักร ศิษยาภิบาลก็ควรหาทางจัดการกับปัญหานั้น เว้นเสียแต่เหตุผลนั้นไม่มีทางแก้ไขได้เลย เช่น สมาชิกที่ย้ายออกบ่นเรื่องการไม่มีที่จอดรถ และคริสตจักรก็ไม่สามารถจัดหาที่จอดรถได้ กรณีเช่นนี้ก็ต้องทำใจยอมรับว่าแม้เป็นเหตุผลที่ดีแต่ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นก็ต้องยอมให้เขาออกไปเพราะคริสตจักรตอบสนองเรื่องนั้นให้เขาไม่ได้
ประการสุดท้าย การย้ายออกไปของสมาชิกคนนั้นอาจจะเป็นวิธีการที่พระเจ้าทรงปกป้องคริสตจักรของพระองค์ไว้ เพราะคนที่ย้ายออกไปนั้นอาจจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในคริสตจักร และส่งผลต่อระเบียบวินัยในคริสตจักรก็ได้ ยกตัวอย่างกรณีอานาเนียกับสัฟฟีรา ที่พระเจ้าทรงลงโทษอย่างรุนแรงถึงตาย เพราะการกระทำของทั้งสองคนอาจกลายเป็นแบบอย่างกับคนอื่น ๆ ในคริสตจักร และจะกลายเป็นความเสียหายกับคริสตจักร แต่ในขณะเดียวกัน การย้ายออกไปของคน ๆ นั้นก็อาจจะเป็นวิธีการที่พระเจ้าจะทรงใช้เพื่อสอนบทเรียนฝ่ายวิญญาณกับเขาก็ได้
อย่างไรก็ตามหากศิษยาภิบาลคนไหนมีความรู้สึกเจ็บปวดใจและเศร้าใจเพราะการย้ายออกของสมาชิก และได้ทำอย่างที่ผมแนะนำแล้ว แต่ความเจ็บปวดใจยังไม่หมดไป และส่งผลกระทบต่องานรับใช้ ผมแนะนำให้ศิษยาภิบาลคนนั้นไปหาศิษยาภิบาลสักคนหนึ่งที่ไว้วางใจได้ เพื่อระบายความรู้สึกที่เจ็บปวดนั้นออกมา และรับคำหนุนใจและการอธิษฐานเผื่อจากศิษยาภิบาลที่เป็นที่ปรึกษาของเรา เพื่อเราจะมีกำลังกลับไปมุ่งมั่นทุ่มเทกับการรับใช้พระเจ้าได้อีก พร้อมกันนั้นให้เราทูลขอพระเจ้าให้ทรงนำคนใหม่ ๆ มาเชื่อในพระองค์เพื่อจะทดแทนคนที่ออกไปนั้น