(ลูกา 23:26-43)
ศจ.ดร.วิเชียร วัฒกีเจริญ
ผู้คนมักจะหัวเราะเยาะคริสเตียนเพราะความเชื่อของเรา แต่ผู้เชื่อควรจะมีกำลังใจในความจริงที่ว่า พระเยซูคริสตเจ้าเองก็ทรงถูกเยาะเย้ยอย่างหนักหน่วงเหมือนคริสเตียนคนอื่นๆ มาแล้ว การดูหมิ่นเปรียบเปรยอาจทำให้เรารู้สึกเสียใจ แต่เราไม่ควรจะยอมให้การเช่นนั้นมาเปลี่ยนแปลงความเชื่อของเรา
พระเยซูคริสตเจ้าตรัสว่า เมื่อเราถูกข่มเหงต้องชื่นชมยินดี การกดขี่ข่มเหงอาจก่อให้เกิดผลดีเพราะ
1. ทำให้เราเลิกมองบำเหน็จรางวัลฝ่ายโลก
2. ขจัดความเชื่ออย่างผิวเผิน
3. ช่วยส่งเสริมความเชื่อของผู้ที่อดทนให้ยืนหยัด และ
4. ท่าทีของเราเมื่อฝ่าฟันการกดขี่ข่มเหงได้ ก็เป็นแบบอย่างแก่คนอื่นที่มาทีหลัง
เราจะรู้สึกได้รับกำลังที่ว่าในอดีตบรรดาผู้เผยพระวจนะคนสำคัญๆ ของพระเจ้าถูกกดขี่ข่มเหงมาแล้วเช่นกัน การที่เราถูกกดขี่ข่มเหงเป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเราเป็นคนสัตย์ซื่อ คนที่ไม่สัตย์ซื่อก็จะไม่สนใจในอนาคตของพระเจ้าว่าจะทรงปูนบำเหน็จแก่ผู้ที่สัตย์ซื่อ โดยรับเขาเข้าในอาณาจักรนิรันดร์ของพระองค์ซึ่งไม่มีการกดขี่ข่มเหงอีกต่อไป
เหตุการณ์ที่ 1 ในข้อ 26 “ชายคนหนึ่งจากเมืองไซรีน ชื่อซีโมน บิดาของอเล็กซานเดอร์กับรูฟัส เดินทางจากนอกเมืองฝ่านมาพอดี พวกทหารจึงเกณฑ์ให้เขาแบกไม้กางเขน”
เมืองไซรีนเป็นเมืองสำคัญของลิบยา ในแอฟริกาเหนือที่นั่นมีชาวยิวอาศัยอยู่มากมาย ซีโมนอาจเป็นยิวอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย เขาเดินทางเข้ามาในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อฉลองวันปัสการ่วมกับชาวยิวอื่นๆ
นักโทษที่ถูกตัดสินให้ตรึงที่กางเขนจะต้องแบกกางเขนของตนไปยังที่ที่จะประหาร ไม้กางเขนนั้นหนักประมาน 30-40 ปอนด์ พระเยซูคริสตเจ้าทรงอ่านล้าจากการถูกโบยตี ทรงหมดแรงไม่อาจแบกกางเขนต่อไปอีกได้ ซีโมนที่ยืนดูอยู่ถูกบังคับให้มาแบกแทน เขาก็ยอมทำตามด้วยความเต็มใจและศรัทธา
กางเขนสมัยนี้คือคริสตจักรซึ่งมีภาระมากมาย แน่นอนจะแบกคนเดียวไม่ไหว คริสเตียนจำเป็นต้องช่วยกันแบกเพื่อจะไปถึงจุดหมายได้ พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งคริสตจักรไว้ให้เราแล้วพระองค์ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดตามเรามาให้ผู้นั้นแบกกางเขนของตนตามเรามาทุกวัน” คริสเตียนผู้ติดตามพระเยซูคริสตเจ้าต้องแบกความทุกข์ทรมานความยากลำบากของตน และของคริสตจักรตามพระเยซูคริสตเจ้าไป โดยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์
เหตุการณ์ที่ 2 ใน ลูกา 23:20-25 “ปีลาตอยากปล่อยพระเยซู จึงพูดโน้มน้าวพวกเขาอีก แต่พวกนั้นเฝ้าร้องตะโกนว่า “ตรึงเขาเสียที่ไม้กางเขน ตรึงเขาเสียที่ไม้กางเขน” ดังนั้นปีลาตจึงตัดสินในที่จะให้ตามข้อเรียกร้องของพวกเขา”
ปีลาตมีสัญชาติโรมัน เป็นผู้รับมอบอำนาจจากองค์จักรพรรดิ เขาต้องการปล่อยพระเยซูไป แต่ฝูงชนตะโกนเรียกร้องให้ประหารพระองค์ ปีลาตจึงตัดสินลงโทษพระเยซูคริสตเจ้าถึงตาย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปีลาตไม่ต้องการเสี่ยงกับการสูญเสียตำแหน่งซึ่งขณะนั้นก็สั่นคลอนเต็มที หากไม่ทำตามเสียงเรียกร้องอาจเกิดการจลาจลขึ้นได้ ปีลาตในฐานะนักการเมืองอาชีพเข้าใจดี เขารู้ความสำคัญของการประนีประนอม หากปีลาตเป็นคนกล้าหาญจริง เขาต้องปล่อยพระเยซูคริสตเจ้าไม่ว่าจะเกิดอะไรเป็นผลตามมา แต่เพราะฝูงชนคำรามและปีลาตเองก็เข่าอ่อน เมื่อเรารู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ตัดสินใจไม่ทำ เราก็เหมือนปีลาต เมื่อเราต้องตัดสินใจในเรื่องยาก อย่ามองข้ามผลจากแรงบีบของกลุ่มเพื่อน จงตระหนักไว้ล่วงหน้าเถิดว่าการตัดสินใจที่ถูกต้องอาจจะก่อให้เกิดผลที่ไม่น่าพึงพอใจตามาเช่น สังคมไม่ยอมรับ ความสูญเสียทางการงานอาชีพ และสาธารณชนเยาะเย้ย เมื่อนั้นขอให้คิดถึงปีลาต ขอให้เราตั้งใจมั่นที่จะยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าคนจะบีบคั้นเราเพียงใด
ต่อมาปีลาตจึงสั่งฆ่าชาวสะมาเรียเป็นจำนวนมากที่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา เนื่องด้วยเรื่องนี้ปีลาตจึงถูกทางการโรมันเรียกตัวกลับไปแก้ข้อกล่าวหาในการกระทำอันโหดเหี้ยมนี้ และปีลาตก็ถูกปลดจากตำแหน่ง ผลสุดท้ายเขาก็ฆ่าตัวตาย ขอให้เราอย่าเอาเยี่ยงอย่างของปีลาต
เหตุการณ์ที่ 3 ข้อ 27-28 “ผู้คนมากมายติดตามพระองค์มารวมทั้งพวกผู้หญิงซึ่งคร่ำครวญร้องไห้เสียงดังเพราะพระองค์ พระเยซูทรงหันมาตรัสกับพวกผู้หญิงนั้นว่า “ธิดาแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย อย่าร้องไห้เพื่อตนเอง และเพื่อลูกๆ ของตนเองเถิด”
มีลูกาเท่านั้นที่กล่าวถึงน้ำตาของพวกผู้หญิงชาวยิว ขณะที่เขาพาพระเยซูคริสตเจ้าไปตามถนนเพื่อจะประหารชีวิต พระองค์ตรัสบอกหญิงเหล่านั้นว่า อย่าร้องไห้เพื่อพระองค์เลย ร้องไห้เพื่อพวกเขาเอง ร้องไห้เพื่อฝูงชนที่ร้องเสียงดังว่า “จงตรึงพระองค์เสีย” เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าทำอะไร พระเยซูคริสตเจ้าไม่ต้องการวายพระชนม์เพื่อเอาชนะความเห็นใจของหญิงเหล่านั้น แต่เพื่อลบล้างความผิดบาปของพวกเขา ของพวกเรา และชาวโลกต่างหาก
พระบิดาทรงพอพระทัยในการวายพระชนม์ของพระบุตรเพราะไม่ใช่เพื่อพระองค์เอง แต่เพื่อทดแทนความบาปของเราทุกคน ทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อ
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เราเสียใจต่อการกระทำบาป ให้เรายอมกลับใจใหม่ พระเจ้าทรงพอพระทัยมากกว่าที่จะร้องไห้สงสารพระองค์ที่ทรงถูกตรึงบนกางเขน
เหตุการณ์ที่ 4 ข้อ 38-43 “เหนือพระองค์มีป้ายเขียนไว้ว่า นี่คือกษัตริย์ของชาวยิว โจรอีกคนหนึ่งตำหนิเขาว่า “เจ้าไม่เกรงกลัวพระเจ้าหรือ ในเมื่อเจ้าเองก็ต้องโทษเดียวกัน เราถูกลงโทษอย่างยุติธรรมเพราะเราได้รับสิ่งที่สมควรกับการกระทำของเราแล้ว แต่ท่านผู้นี้ได้ไม่ได้ทำอะไรผิด” … “พระเยซูเจ้าข้าขอทรงระลึกถึงข้าพระองค์เมื่อพระองค์ทรงเข้าสู่ราชอาณาจักรของพระองค์” พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า วันนี้แหละ ท่านจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม”
ป้ายที่เขียนมุ่งหมายเพื่อเยาะเย้ยเสียดสีกษัตริย์ที่ถูกถอดฉลองพระองค์และถูกประหารชีวิตต่อหน้าต่อตาสาธารณชน สูญเสียอาณาจักรพระองค์ไปแล้วชั่วนิรันดร์ แต่พระเยซูคริสตเจ้าผู้เปลี่ยนปัญญาของโลกให้กลับตาลปัตรกำลังจะขึ้นครองอาณาจักรของพระองค์ การสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ของพระองค์จะรุกฆาตการปกครองของซาตาน และสถาปนาสิทธิอำนาจของพระคริสต์เหนือโลกนี้ชั่วนิรันดร์ คนที่อ่านป้ายประกาศอันน่าหดหู่ในบ่ายวันนั้นมีน้อยคนที่เข้าใจความหมายที่แท้จริง แต่ป้ายนั้นเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ พระราชกิจทั้งหมดไม่ได้สูญเปล่าเพราะพระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ของยิว และของคนต่างชาติและทั้งจักรวาล
พูดถึงโจรคนหนึ่งที่ใกล้ตาย เขาหันมาหาพระคริสต์ขออภัยโทษบาปและพระคริสต์ก็ยอมรับเขา นี่แสดงให้เห็นว่าการกระทำของเราไม่ได้ช่วยให้เรารอด แต่ความเชื่อที่เรามีในพระคริสต์ต่างหากที่ช่วยเราได้ ไม่เคยสายเกินไปที่จะหันมาหาพระเจ้า แม้จะกำลังเจ็บปวดรวดร้าว พระเยซูทรงเมตตาอาชญากรผู้นี้ที่ตัดสินใจเชื่อพระองค์ หากเรากลับใจมาหาพระเยซูคริสตเจ้าเร็ว ชีวิตของเราก็มีประโยชน์และสำเร็จผลตามจุดมุ่งหมายได้มากกว่า แต่ทว่า แม้แต่คนที่กลับใจในนาทีสุดท้ายของชีวิตก็จะได้อยู่กับพระเจ้าในเมืองบรมสุขเกษม
เหตุการณ์ที่ 5 ข้อ44-45 “เวลานั้นประมาณเที่ยงวัน เกิดมืดมัวไปทั่วแผ่นดินจนถึงบ่ายสามโมง เพราะดวงอาทิตย์หยุดส่องแสงและม่านในพระวิหารขาดเป็นสองท่อน”
ความมืดปกคลุมทั่วดินแดนเป็นเวลาสามชั่วยามในตอนกลางวันแสกๆ ธรรมชาติดูเหมือนจะรวมในความเศร้าสลดของการสิ้นพระชนม์ของพระบุตรของพระเจ้า นอกจากนั้นเกิดแผ่นดินไหวด้วย
เราไม่ทราบว่าความมืดนี้เกิดขึ้นออย่างไร แต่ก็เห็นชัดว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นธรรมชาติเป็นพยานถึงความสำคัญของการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้าขณะที่มิตรสหายและศัตรูของพระองค์เงียบงันอยู่ในความมืดทึบที่แวดล้อม ความมืดในตอบบ่ายวันศุกร์นั้นเป็นความมืดทั้งด้านกายและจิตวิญญาณ พระเยซูคริสตเจ้าทรงทุกข์ทรมานเพราะความตายทั้งด้านจิตวิญญาณและร่างกาย เพื่อช่วยให้เราไม่ต้องประสบกับการแตกแยกจากพระเจ้าชั่วนิรันดร์
เหตุการณ์ที่ 6 “และม่านในพระวิหารขาดเป็นสองท่อน”
พระวิหารแบ่งเป็นสามส่วนคือ ลานพระวิหาร วิสุทธิสถาน (ที่ปุโรหิตเท่านั้นจะเข้าไปได้) และอภิสุทธิสถาน (ซึ่งปุโรหิตเท่านั้นเข้าไปได้ปีละครั้งเพื่อลบล้างบาปของชนชาติ) เมื่อพระเยซูคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์ ม่านที่กั้นระหว่างวิสุทธิสถานกับอภิสุทธิสถานขาดออกเป็นสองท่อนเป็นสัญลักษณ์ว่าเครื่องกีดกั้นระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์นั้นถูกขจัดออกไปแล้ว บัดนี้ทุกคนสามารถเข้ามาหาพระเจ้าได้ เพราะพระคริสต์ทรงเป็นเครื่องบูชาสำหรับความบาปของเรา
ในการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์เจ้ามีเหตุอัศจรรย์เกิดร่วมด้วยอย่างน้อย 4 ประการ คือ ความมืด ม่านในพระวิหารขาดออกเป็นสองท่อน แผ่นดินไหว และคนที่ตายแล้วเป็นขึ้นมาจากหลุมฝังศพ
ฉะนั้น การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ จึงไม่อาจจะผ่านไปโดยไม่สังเกต ทุกคนรู้ว่าบางสิ่งที่สำคัญได้เกิดขึ้นแล้ว พี่น้องและผมมีความรู้สึกดังกล่าวไหม?
เหตุการณ์ที่ 7 ในมาระโก 15:37,42-47 “พระเยซูทรงร้องเสียงดังแล้วสิ้นพระชนม์ … เมื่อเวลาเย็นใกล้เข้ามา โยเซฟแห่งอาริมาเธียหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของสภา ผู้กำลังรอคอยอาณาจักรของพระเจ้าเข้าพบปีลาตอย่างองอาจขอรับพระศพพระเยซู”
หลังจากที่พระเยซูคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน โยเซฟชาวบ้านอาริมาเธียมาขอรับพระศพไปฝังในอุโมงค์ฝังศพใหม่ ถึงแม้เขาจะเป็นสมาชิกทรงเกียรติของสภาแซนแฮดริน โยเซฟก็เป็นแค่สาวกของพระเยซูอย่างลับๆ ไม่ใช่ผู้นำทางศาสนาของยิวจะเกลียดชังพระเยซูไปหมดทุกคน โยเซฟยอมเอาฐานะชื่อเสียงของตนเข้าเสี่ยง เพื่อจัดการฝังพระศพขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเขาให้เรียบร้อย เป็นเรื่องน่ากลัวที่จะเอาฐานะชื่อเสียงของตนเข้าเสี่ยง แม้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง หากการประกาศตนเป็นคริสเตียนเป็นอันตรายต่อชื่อเสียงของเรา จงนึกถึงโยเซฟ
ทุกวันนี้คริสตจักรยังระลึกถึงเราด้วยความชื่นชม นอกจากโยเซฟชาวอาริมาเธียนี้แล้ว มีสมาชิกอื่นคนไหนของสภาแซนแฮดรีนของยิวที่เราระบุชื่อได้
อย่างไรก็ตามทหารปีลาต โยเซฟแห่งอาริมาเธีย บรรดาผู้นำทางศาสนาและพวกผู้หญิงที่เห็นการฝังพระศพล้วนยืนยันว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเยซูคริสตเจ้าทรงทนทุกข์ทรมานจนถึงตายจริงๆ บนกางเขน
ขอพระเจ้าทรงอวยพระพรการเสียสละและความบากบั่นของพวกเราในฐานะผู้เชื่อ เราควรฉวยโอกาสที่มีกระทำสิ่งซึ่งเรา “ทำได้” เพื่อพระคริสต์ แทนที่จะมัวพะวงถึงสิ่งที่เรา “ทำไม่ได้”